COVID-19 BLOG
COVID-19 BLOG
ขอขอบคุณข้อมูลดีจาก : Facebook คปภ. PR OIC
ขอขอบคุณข้อมูลดีจาก : https://thecuratorclub.co
ไม่ใช่ทุกคนจะมีพื้นที่ส่วนตัวเพื่อจัดการงานของตัวเอง รูปแบบการทำงานของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป อย่างไรเสีย ในภาวะแบบนี้ ภายใต้ชายคาเดียว การอยู่ร่วมกัน หมั่นดูแล ให้กำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญ นี่จึงเป็นการการวางแผน wfh ในบ้านที่มีมากกว่าคุณ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเรื่อง What the F_ck!!!
พื้นที่ทำงานคือ ‘พื้นที่ทำงาน’ และแม้จะอยู่บ้าน มันคือวันทำงาน
มันอาจดูจืดชืดไปสักหน่อย ไม่คล้ายออฟฟิศอวลกลิ่นกาแฟ แต่นั่นแหละ บรรยากาศอาจเป็นเรื่องรอง แต่การจัดที่ทางมีผลมากๆ มีโต๊ะหรือไม่ อะไรวางบนโต๊ะบ้าง แสงเข้าทางไหน จัดมุมหนึ่งในบ้านเสียใหม่ ให้มันแตกต่างออกไปจากเดิม พยายามวางตารางการทำงานให้ใกล้เคียงปกติ เช่น เริ่ม 9 โมง เลิก 6 โมง หากพื้นที่จำกัด ต้องการสมาธิบางช่วงเวลา หูฟังคือตัวช่วยที่ดีเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัว …และหากไม่อยากให้เวลาทำงานรวน อย่าคิดทำงานบนเตียง
ทำความเข้าใจกับทุกคน ว่าคุณต้องทำงาน
แจ้งสมาชิกในบ้านเกี่ยวกับงาน ว่ากำลังทำอะไร รวมถึงกิจวัตรประจำวันขณะทำงาน สร้างความเข้าใจพื้นฐานการอยู่ร่วมกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับงานของแต่ละคนในเวลาพัก แชร์กันทั้งเรื่องเคร่งเครียดและตลกชวนหัว จะทำให้บ้านหรือห้องไม่กลายเป็นพื้นที่คร่ำเคร่งที่ทุกคนก้มหน้าทำงานและหันหลังใส่กันมากเกินไปนัก
กำหนดปฏิทินร่วมกัน
สร้างปฏิทินในบ้าน ลืมแอพพลิเคชันต่างๆ และสมาร์ทโฟนไว้สักพัก ใช้กระดาษนี่แหละ ง่ายๆ เห็นชัดๆ แปะมันบนผนัง เพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละคนในบ้านมีความ ‘ยุ่ง’ ช่วงไหน เวลาใด ใครประชุมออนไลน์กี่โมง ใครต้องใช้สมาธิจดจ่อจริงจังกับการคิดคำนวณเลขตอนกี่โมง ป้องกันการรบกวน จัดสรรการใช้งาน แบ่งปันพื้นอย่างมีประสิทธิภาพ หากคุณเป็นพนักงานประจำที่เข้า-ออกงานเป็นเวลาจนเคยชิน นี่คือความจำเป็นต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ เพราะไม่ใช่คุณคนเดียวที่ต้องเจอกับวิกฤติปฏิวัติโลกครั้งนี้
ได้โปรดออกมามองโลกบ้าง
มันจำเป็นเหลือเกินที่คุณต้องออกจากบ้านบ้าง เลี่ยงไม่ได้ว่าบรรยากาศของการอยู่หลายคนในที่จำกัดจะสร้างความ ‘คับที่’ จนคับใจอยู่ในบางขณะ อย่าหงุดหงิด ขยับเท่าที่เขยิบได้ ลุกออกจากพื้นที่ทำงาน โผล่หน้าออกนอกห้อง ยืนมองโลกตรงระเบียง เดินไปซื้อขนมใกล้ๆ บ้าน เห็นโลกที่ยังเคลื่อนไป แม้ทุกคนจะเคลื่อนที่กันไม่ได้มากนักก็ตาม
สร้างกิจกรรมร่วมกัน
บางทีอาจไม่มีหมูกระทะมาเยียวยาได้บ่อยๆ เอาแบบเบสิกๆ สั่งอาหารมาตั้งวงกินพร้อมกัน ตามที่บริการ delivery จะเอื้ออำนวย จัดการตามกำลังทรัพย์ ทั้งมื้อประหยัดและมื้อค่อนข้างพิเศษสักหน่อย แชร์อย่างสมเหตุสมผล หรือดูซีรีส์ หนัง ละครก่อนและหลังข่าวร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยร้อยรัดให้เกิดความรู้สึกร่วม ลดการกระทบกระทั่ง เพราะไม่มีอะไรยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไวรัสจะกำชับให้เราต้องอยู่ติดบ้านนานแค่ไหน
ถ้าต้องทำงานในบ้านที่มีเด็ก!
ไม่ใช่คุณที่ต้องอยู่บ้าน เมื่อโรงเรียนหยุด เด็กๆ อีกหลายคนก็เหมือนกัน ที่ต้องอยู่ประจำการที่บ้าน คงนึกภาพออกไม่ยาก หากไม่มีตัวช่วยมากนัก เมื่อคุณต้องทำงานอยู่บ้านโดยที่เด็กๆ วิ่งวนไปมารอบโต๊ะจะสนุกสนานขนาดไหน ทั้งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับอายุของเด็กเป็นสำคัญ
คำแนะนำพื้นฐานคือต้องสร้างความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานร่วมกันในแบบออนไลน์ ว่าการอยู่บ้านทำให้คุณต้องเป็นพ่อ-แม่ ผู้ปกครองแบบ full-time โดยอัตโนมัติ จัดตารางการทำงานให้ยืดหยุ่น พร้อมรับมือ ‘การรบกวน’ ที่อาจจะน่ารัก แต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้แผนที่คุณตั้งไว้รวนได้ไม่น้อย ช่วงเวลาที่เด็กๆ หลับคือเวลา productive ที่ต้องกอบโกย และขณะตื่น อาจต้องหากิจกรรมบันเทิงๆ ให้เขาจัดการความสนุกของตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยคุณเป็นตัวช่วยตลอดเวลา
อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
parents.com
ขอขอบคุณข้อมูลดีจาก : ข้อมูลจาก : ไทยรู้สู้โควิด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค