รู้หรือไม่ รายได้คนไทยที่รวยสุด 10% เฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 หมื่น แต่คนจนสุด 10% อยู่ที่ 2,100 บาท เท่านั้น | Money Buffalo

 พี่ทุยไปเจอข้อมูลความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564 ที่ สภาพัฒน์ฯ ได้อัปเดทเมื่อตอน ก.ย. 2565 เรื่องช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนที่จนที่สุดและรวยที่สุดของไทยหลายมิติมากๆ พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟัง
 
ในมิติของ “ความแตกต่างของระดับรายได้” หากเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยของกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุด 10% แรก ที่มีรายได้ เฉลี่ย 2,102 บาทต่อเดือน
 
และกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% บนสุด ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 34,463 บาทต่อเดือน ในปี 2564 มีความแตกต่างกันถึง 16 เท่าเลยทีเดียว และยังมีแนวโน้มห่างออกจากกันเรื่อย ๆ อีกด้วย
 
และหากเจาะข้อมูลให้ลึกลงไปในการเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับรายได้ที่แท้จริง ซึ่งตัดผลของเงินเฟ้ออกไปแล้ว ระหว่างประชากรกลุ่มรายได้น้อย หรือ กลุ่มคนที่จนที่สุด 10% แรก เฉลี่ยประมาณ 2,096 บาทต่อคนต่อเดือน
 
และประชากรที่รวยที่สุดในไทย หรือกลุ่มคน 1% ที่อยู่บนสุด อยู่ที่ 89,784 บาทต่อคนต่อเดือน มีความต่างคิดเป็น 42.8 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำของไทย ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก
 
ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ไม่สามารถลดลงได้อย่างชัดเจนมากนัก เพราะอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ ในกลุ่มคนรวยปี 2564 แม้ว่าจะไม่สูงมาก ถ้าเทียบภายในกลุ่ม
 
แต่กลับมีมูลค่าสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเห็นได้จาก Info ว่าการลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนต่างๆ เป็นไปได้อย่างจํากัด
 
ยิ่งไปกว่านั้น แล้วปัญหาพวกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ นั่นคือ คนที่มีงานที่ดีกว่าย่อมมีรายได้สูงกว่า มีเงินเหลือเก็บออม ส่วนคนที่หาเช้ากินค่ำอาจจะต้องกู้ยืมทำให้มีหนี้สิน
 
หากเราเปรียบเทียบคนสองคน คนหนึ่งมีเงินเหลือเก็บ อีกคนรายได้แทบไม่พอจะกิน ชีวิตเป็นเช่นนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานไปจนเกษียณ ช่องว่างทางเศรษฐกิจนั้นจึงกว้างขึ้นเรื่อยๆ คนแรกจะยิ่งร่ำรวยมั่งคั่งยิ่งขึ้น และยังสามารถนำเงินออมบางส่วนไปลงทุนส่งให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก
 
ขณะที่คนหลังจะไม่ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากเลย เคสแบบนี้นี่เองที่ทำให้สังคมไทยเกิดช่องว่างที่เรายังไม่สามารถแก้ไขได้เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้
 
ในส่วนของวิธีแก้ปัญหา มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามวิเคราะห์ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ผลพบว่าอย่างน้อย 50% ของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ตลอดช่วงชีวิตมาจากความแตกต่างของทุนมนุษย์ตั้งแต่อายุ 18 ปี
และในช่วง 18 ปีแรกของชีวิตนั้น ต้องลงทุนที่การศึกษา ทั้งหลักสูตร และคุณภาพของหลักสูตรด้วย อ้างอิงจาก งานวิจัยของ Professor James J. Heckman และคณะที่ศึกษาผลของโครงการ Perry Preschool
ที่ศึกษาเกี่ยวกับ การเพิ่มโอกาสด้านการศึกษาในระดับปฐมวัยต่อความสามารถ และความสำเร็จด้านอาชีพการงานในอนาคต พบว่า คะแนนสอบของเด็ก อายุ 5 ปี เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยทำนายได้ว่าเด็กคนนั้นจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่
 
และ โครงการ Perry Preschool นี้ยังมีบทบาทในการพัฒนาทักษะทั้งทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ และความอยากเรียนรู้ในเรื่องที่เป็นวิชาการ ซึ่งทักษะเหล่านี้ส่งผลต่อเนื่องมายังเรื่อง การงาน รายได้ สุขภาพ และจริยธรรมในสังคมที่ดียิ่งขึ้น และยังพบว่าการลงทุนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่านั้น จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งดีกว่าด้วย
 
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สภาพัฒน์ฯ